งานของเราเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ประเทศไทย
การสนับสนุนของสหประชาชาติต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ประเทศไทย
แก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) สามารถสรุปได้ด้วยวลีสั้น ๆ ว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในทุกภาระกิจของสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2565 ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. 2565-2569 (UNSDCF) กับรัฐบาลไทย กรอบความร่วมมือฯ นี้แจกแจงการสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ระบบสหประชาชาติมอบให้กับประเทศไทยเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายอันสูงส่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030 และก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง มีการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤต กรอบความร่วมมือฯ ได้รับการออกแบบโดยอิงหลักการของสหประชาชาติที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคทางเพศ หลักความยั่งยืน และหลักภูมิคุ้มกันต่อวิกฤต จึงมีความสอดคล้องในระดับสูงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ประเทศไทย
ทีมงานสหประชาชาติในประเทศไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG localization) เพื่อนำวาระการพัฒนาระดับโลกสู่ชุมชนท้องถิ่นให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ผลการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นที่ผ่านมา ได้แก่ ความพยายามในการส่งเสริมระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบบูรณาการสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 1.3) การแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เป้าหมายที่ 3.4) การให้การศึกษาที่ครอบคลุมซึ่งรวมถึงเด็กในกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (เป้าหมาย 3.4) และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี (เป้าหมาย 5.5) อีกทั้งยังมุ่งเสริมพลังและความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และส่งเสริมนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่โดยเน้นสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจและการพลิกโฉมวิสาหกิจด้วยระบบดิจิทัล (เป้าหมาย 8.3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ (LGBTI) (เป้าหมาย 10.2) รวมถึงการดำเนินงานด้านการอภิบาลแรงงานข้ามชาติเพื่อส่งเสริมให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีระเบียบที่ชัดเจน (เป้าหมาย 10.7) นอกจากนั้น องค์การสหประชาชาติยังได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมาย 13.2) การจัดการขยะมูลฝอย (เป้าหมาย 11.6) และการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและภาคการเงินและการลงทุนที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมสีเขียวในหมู่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เป้าหมาย 7.2) สนับสนุนสิทธิการเป็นพลเมืองที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประชาชน (เป้าหมาย 16.9) และแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยกับนานาประเทศ ผ่านความร่วมมือไตรภาคีแบบใต้-ใต้ (เป้าหมาย 17.9) สู่การพลิกโฉมสังคมไทยไปพร้อมกับทุกภาคส่วน ให้มีความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุม