‘ขยะกองเท่าภูเขา เราแก้ไขได้’ ส่องแนวคิดเมืองอัจฉริยะ พิชิตขยะ 900 ตัน/วันของแหลมฉะบัง
ㅤ
แม้ประชากรและความเป็นเมืองจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ปริมาณขยะพลาสติกที่มีมากอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่เทศบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กลับไม่มีขยะตกค้างเพราะระบบจัดการขยะมูลฝอยแบบ ‘เมืองอัจฉริยะพิชิตขยะ (Waste Wise Cities)’ ช่วยให้สามารถฝังกลบขยะได้มากถึง 910 ตันต่อวัน
แหลมฉบังเป็น 1 ใน 6 พื้นที่นำร่องของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมกำหนดกลยุทธ์การจัดการขยะและทรัพยากรใหม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยแนวคิดเมืองอัจฉริยะฯ มีเป้าหมายสำคัญคือลดปัญหาขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำซึ่งทุกปีจะมีมากถึง 8 ล้านตันทั่วโลก และเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของทะเลและมหาสมุทร
ถ้ากองขยะหนักเท่ากับตึกเอ็มไพร์สเตท 10 อาคาร จะเป็นอย่างไร
จังหวัดชลบุรีเป็นศูนย์กลางโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ที่เชื่อมพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของเอเชีย การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่ปลายทางของขยะอุตสาหกรรมรวมทั้งขยะครัวเรือนที่มีมากอยู่แล้วเหล่านี้ไปจบลงที่ไหน
คำตอบก็คือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่มีทั้งแบบฝังกลบและแบบครบวงจรซึ่งที่จังหวัดชลบุรีมีทั้งหมด 4 แห่ง แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบเทศบาลแหลมฉบัง พื้นที่กว่า 238 ไร่ มีทั้งบ่อฝังกลบขยะและบ่อบำบัดน้ำเสียตามรายงานของเทศบาลแหลมฉบัง
นอกจากนั้น รายงานเทศบาลนครแหลมฉบังฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ระบุว่าศูนย์กำจัดขยะฯ รับขยะทั้งจากในและนอกเทศบาล รวมแล้วเฉลี่ยต้องฝังกลบถึงวันละกว่า 910 ตัน ปริมาณขยะมูลฝอยดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ตันต่อวันจากปริมาณที่เคยจัดเก็บเมื่อปี พ.ศ. 2563 จึ่งจำเป็นต้องฝังกลบให้ได้อย่างน้อยวันละ 650 ตัน รวมทั้งหมดแล้วศูนย์นี้ประกอบด้วยขยะกว่า 3 ล้านตัน เท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์สเตท (Empire State) ที่นิวยอร์กของสหรัฐฯ รวมกันถึง 10 อาคารเลยทีเดียว
เผา ฝังกลบ บำบัด หรือการรีไซเคิล แบบไหนดีที่สุด
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเชื่อมโยงอยู่กับระบบนิเวศน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคตะวันออกของไทยที่มีพื้นที่ติดอ่าวไทยเป็นแนวยาว การศึกษาการบริหารจัดการขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาขยะล้นเมือง รวมทั้งการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์เป็นวงกว้างจนเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์
จากการสำรวจของ UN-Habitat ขยะมูลฝอยกว่าร้อยละ 50 ที่ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้เป็นขยะชีวภาพอย่างเศษอาหาร แต่ในขณะเดียวกันก็พบขยะพลาสติกปริมาณมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติกชนิดอ่อนที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 16 ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง แต่มีเพียงร้อยละ 8 ที่มาจากครัวเรือน
การลงพื้นที่จริงที่ศูนย์กำจัดขยะฯ ทำให้เห็นว่ามีขยะหลากหลายชนิดที่ยากจะย่อยสลาย แม้จะถูกรถขุดและรถแทรกเตอร์ที่ทำงานอย่างขะมักเขม้นฝังกลบไปแล้วก็ตาม ทั้งกระเป๋าถือ กล่องพัสดุ อุปกรณ์ทานอาหารจากบริการเดลิเวอรี่ และขยะพลาสติกทั้งชนิดอ่อนและแข็งซึ่งโดยมากเป็นบรรจุภัณฑ์ของของกินของใช้อีกจำนวนมาก
ในจำนวนขยะมหาศาลเหล่านี้ มีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้ศูนย์กำจัดขยะฯ จำเป็นต้องฝังกลบทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลเพราะปริมาณขยะมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การศึกษาการบริหารจัดการขยะน่าจะเป็นทางออกเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับศูนย์จำกัดขยะที่มีอยู่แล้ว
โครงการ SEA Circular จากการสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme - UNEP) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ผลักดันการศึกษาการบริหารจัดการขยะที่ได้มาตรฐาน อิงหลักวิทยาศาสตร์ อย่างโครงการเมืองอัจฉริยะฯ ที่เน้นการประเมินประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชุนด้วยตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ตัวบ่งชี้ที่ 11.6.1 มีการประยุกต์ใช้แล้วใน 6 เมืองเศรษฐกิจใหญ่ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งจังหวัดชลบุรีของไทย
การประเมินประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย มี 7 ขั้นตอน ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่การศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยที่มาจากครัวเรือนและแหล่งอื่น ไปจนถึงการคำนวณสัดส่วนขยะ เช่นขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะพลาสติกที่รั่วไหล ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะได้ คือ ปริมาณ ประเภท แหล่งที่มาของขยะ ซึ่งจะช่วยภาครัฐและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายการจัดการขยะ อย่างที่จังหวัดชลบุรีกำลังทำอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่แหลมฉบังเป็นหนึ่งในศูนย์กำจัดขยะของไทยที่กำลังรับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อจังหวัดชลบุรีมีประชากรเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโตขึ้น ปริมาณขยะก็จะมากขึ้น ปัญหามลพิษขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน ภารกิจหลักของทีมงานสหประชาชาติในไทยคือการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy - BCG) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความมุ่งหมายของกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนวาระปี พ.ศ. 2565-2569 (UN Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับสหประชาชาติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้อธิบายว่า การบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นวาระสำคัญ เพราะการจัดการขยะมูลฝอยไม่ใช่เรื่องเล็ก และเราไม่สามารถพึ่งพาที่ทิ้งขยะและศูนย์กำจัดขยะได้ตลอดไป การสนับสนุนการศึกษาการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“อย่าลืมว่า ขยะกองเท่าภูเขา เราแก้ไขได้”
เรื่อง นงธัช อมรวิวัฒน์
เรียบเรียง วัชรียา ยอดประทุม, พรรณิสา นิรัตติวงศกรณ์, ดร.ลักษณารีย์ มณีโชติ
Tags: #FromTheField #BCGeconomy #PlasticPollution #ForPeopleForPlanet #OnlyOneEarth