ดราม่า vs ความจริง – มวยเขมร มวยไทย มวยใคร?
มวยเขมร หรือ ‘กุน ลโบกาตอร์’ เป็น 1 ใน 22 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ที่ได้อนุมัติขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ที่กรุงราบัต ประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับมรดกภูมิปัญญาอื่น ๆ เช่น ขนมปังบาแกตต์ในฝรั่งเศส พิธีชงชาของจีน พิธีเต้นรำฟูริวโอโดริของญี่ปุ่น เทศกาลสัปดาห์อันศักดิ์สิทธิ์ในกัวเตมาลา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า แทนที่จะเป็นความภาคภูมิใจที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ (Representative List) กลับมีกระแสในโลกโซเชียลมีเดียเปรียบเทียบมวยไทย กับ’กุน ลโบกาตอร์’ ว่าเป็นการลอกเลียนท่าไหว้ครูและการย่างสามขุมจากมวยไทย ดังที่เห็นในภาพยนตร์ ‘องค์บาก’
บ้างก็ว่าเป็นการบิดเบือนความจริงว่ามวยแบบใดเกิดขึ้นก่อนกันหรือดีกว่ากัน บ้างว่าเป็นการตั้งใจโจมตีประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้เวทีโลกเป็นเครื่องมือทำสงครามจิตวิทยา จนบางคนแสดงความรู้สึกว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชาในระดับนานาชาตินั้น ทำไปเพื่อทับถมศักดิ์ศรีของคนไทย และผิดหวังต่อคณะกรรมการของยูเนสโก ถึงขั้นติดต่อทางโซเชียลของยูเนสโกเพื่อคัดค้านและคาดโทษการขึ้นบัญชีครั้งนี้
ต้องขออนุญาตเล่าที่มาและเจตนารมณ์ของการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ (Representative List) เสียก่อน
ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม สำนักงานใหญ่ยูเนสโกมีหน้าที่จัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Committee) เกี่ยวกับการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาล 24 ประเทศ จากบรรดา 175 รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ซึ่งจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุก ๆ 4 ปี ผลัดกันได้รับเลือกมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเพื่อให้แต่ละรัฐภาคีสามารถดำเนินงานตามพันธะทางกฎหมายต่ออนุสัญญาฯ และพิจารณาสนับสนุนโครงการส่งเสริมการสืบทอดวัฒนธรรมและโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ และประเทศไทยก็เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฯและได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559
วาระที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนที่สุดคงหนีไม่พ้นวาระการพิจารณาบรรจุ มรดกภูมิปัญญาจากประเทศต่าง ๆ สู่บัญชีของยูเนสโก ในแต่ละปีจะมีบัญชีมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ (Representative List of Intangible Cultural Heritage of Humanity) บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องการการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน (List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding) และรายการกิจกรรมส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดี (Register of Good Safeguarding Practices)
บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ (Representative List) เป็นบัญชีที่คนทั่วไปให้ความสนใจมากที่สุด และมักเข้าใจผิดว่าเป็น ‘บัญชีมรดกโลก’ บัญชีนี้มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศต่าง ๆ มากที่สุด โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกย่องความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ต่อชุมชนท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบทอดมรดกนั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของคนต่างถิ่น หรือต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองระดับชาติ
การอธิบายความแตกต่างระหว่าง ‘การยกย่องวัฒนธรรม’ และ ‘การถือครองวัฒนธรรม’ ให้เป็นที่เข้าใจทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยเราก็ยังได้พบเห็นในโลกออนไลน์ว่า ในบรรดาการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานาต่อการขึ้นบัญชีครั้งนี้ มีคนไทยจำนวนมากที่พยายามอธิบายให้คนที่รู้สึกเสียใจเข้าใจว่า จุดประสงค์ของการขึ้นบัญชีของยูเนสโกนั้น เพื่อให้ประเทศหนึ่งสามารถแบ่งปันเรื่องราวการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาที่ประสบความสำเร็จในประเทศตน ให้ผู้อื่นร่วมชื่นชมและเกิดความสนใจในมรดกนั้นมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามรดกภูมิปัญญาที่ดีงามนี้จะไม่สูญหายไป เพราะคนทั้งโลกได้รู้จักมรดกนี้มากขึ้นแล้ว
สิ่งที่บางคนอาจมองข้ามไปก็คือ เส้นเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นและดำเนินเรื่อยมาก่อนที่จะเกิดเส้นแบ่งเป็นรัฐชาติใด ๆ ในภูมิภาคของเราเสียอีก คำบรรยายอย่างเป็นทางการของ ‘กุน ลโบกาตอร์’ ในเว็บไซต์ของยูเนสโกกล่าวว่า เป็นศิลปะที่มีความคล้ายคลึงกันกับมวยไทยและมวยลาว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องไม่จริง เนื่องจากมีศิลปะเหล่านี้สืบต่อมาจากเหล่าอาณาจักรโบราณที่ผสมผสานเชื้อชาติและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันมาช้านานหลายศตวรรษ สิ่งที่เราน่าจะภูมิใจด้วยกันคือการที่กลุ่มชนต่าง ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมินั้นมีวัฒนธรรมที่หล่อมรวมใกล้ชิดกันในแบบที่พรมแดนสมัยใหม่ใด ๆ ก็ไม่สามารถแบ่งแยกได้
ที่สำคัญ ชื่อที่ใช้ในการบรรจุเข้าบัญชีของยูเนสโก คือ ‘กุน ลโบกาตอร์ ศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมในประเทศกัมพูชา’ ประเทศกัมพูชาเลือกใช้คำว่า ‘ใน’ ไม่ใช่ ‘ของ’ เพื่อต้องการสื่อว่าศิลปะการต่อสู้นี้จะได้รับการปฏิบัติโดยคนชาติใดก็ได้ และอาจปรากฏในพรมแดนชาติใดอีกก็ได้ การขึ้นบัญชีไม่ได้ลิดรอนสิทธิให้คนชาติอื่นหรือชุมชนอื่นสืบทอดหรือศึกษามรดกนี้ได้ นอกจากนี้การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโกนั้นจึงไม่เหมือนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แต่อย่างใด
หากจะทำให้หลายคนที่ยังต้องการ ‘วางมวย’ รู้สึกดีขึ้นบ้าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทยได้มีแผนที่จะเสนอชื่อ ‘มวยไทย’ สู่บัญชีของยูเนสโกเช่นกันในปีต่อ ๆ ไป ขั้นตอนที่สำคัญในเอกสารเสนอชื่อคือการแสดงให้เห็นว่าประเทศมีแผนการส่งเสริมรักษาที่ชัดเจน ที่จะช่วยให้ศิลปะการต่อสู้นี้ได้รับการปฏิบัติเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ และไม่ถูกยึดเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์โดยคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ในไทยเองก็เคยได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีเดียวกันนี้ของยูเนสโกอยู่หลายครั้งตั้งแต่ ‘โขน’ ในปี 2561 ‘นวดแผนไทย’ ในปี 2562 และ ‘รำโนรา’ ในปี 2564 และยังมี ‘เทศกาลสงกรานต์’ ที่กำลังรอเข้าคิวพิจารณาในปีหน้า เช่นเดียวกับ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันให้ได้ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ภายหลังจากที่ ‘น้องมิลลิ’ หรือ คุณดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์หญิงไทยวัย 20 ปี ได้ขึ้นแสดงและรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีเทศกาลดนตรี Coachella 2022 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
อนึ่ง วาระการพิจารณาบรรจุมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่บัญชีต่าง ๆ ของยูเนสโกในปี พ.ศ. 2565 นั้นดำเนินถึงวันที่ 3 ธันวาคม ณ กรุงราบัต ประเทศโมร็อกโก โดยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรวม 54 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อให้พิจารณาขึ้นบัญชี ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ทาง https://ich.unesco.org/en/news/