กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๕–๒๕๖๙
กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๙ (UNSDCF) เป็นกรอบที่เเสดงถึงการสนับสนุนของระบบสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาในการสนับสนุนการดำเนินตามพันธกรณีของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๓๐ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมถึงการสนับสนุนความมุ่งหมายของประเทศไทยในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และมีความก้าวหน้า
ในกระบวนการจัดทำกรอบความร่วมมือฯ สหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกันนำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่ายมีโอกาสในการร่วมอภิปรายต่อยุทธศาสตร์ ผลลัพธ์ และจุดเน้นต่าง ๆ ของกรอบความร่วมมือฯ โดยเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับบทบาทที่สหประชาชาติสามารถสร้างคุณูปการและสร้างคุณประโยชน์ในการสนับสนุนรัฐบาลให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ทั้งสามประการของกรอบความร่วมมือฯ ที่ได้จากการหารือต่าง ๆ นี้ อิงอยู่บนฐานหลักการทั้งห้าของสหประชาชาติ คือ หลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคทางเพศ หลักความยั่งยืน และหลักภูมิคุ้มกันต่อวิกฤต ผลลัพธ์ทั้งสามในกรอบความร่วมมือฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และส่งเสริมการบรรลุผลของหมุดหมาย ๑๒ ข้อจาก ๑๓ ข้อของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ (ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓) ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ทั้งสามประการนั้นประกอบด้วยจุดเน้น ๖ ข้อ ซึ่งหน่วยงานของสหประชาชาติจะร่วมมือกับรัฐบาลไทย และภาคีเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนที่สหประชาชาติอยู่ในสถานะที่จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่สหประชาชาติมีอยู่
กล่าวโดยสรุป การที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่การเป็นสังคมมูลค่าสูงที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ มีความเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างพลิกโฉม ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในวิธีการดำเนินการตามนโยบาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเพิ่มการลงทุนขนานใหญ่ทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชนทางด้านปัจจัยที่เกื้อหนุนต่ออุตสาหกรรม ๔.๐ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ (เช่น ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ฟินเทค บล็อกเชน เป็นต้น) เพื่อเพิ่มผลิตภาพและผลักดันการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ ให้ความสำคัญ โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุนด้านทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ ผ่านการศึกษาที่มีความเสมอภาค การพัฒนาทักษะและตลาดแรงงาน การให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า และการให้สวัสดิการสังคมที่เพียงพอ
สหประชาชาติจะสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาเพื่อพลิกโฉมสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจมูลค่าสูง การพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและศักยภาพระดับโลกของสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรแนวหน้าของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๓๐ และอยู่ในสถานะที่โดดเด่นที่จะให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลในการใช้ประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาที่เป็นผลมาจากการยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานการดำเนินงานตามสนธิสัญญาและอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ให้ประโยชน์ทั่วถึง ผ่านการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและประยุกต์ใช้นวัตกรรมการแก้ปัญหาด้านการพัฒนา (development solutions) ที่สามารถขยายผลได้ สหประชาชาติเป็นองค์กรที่สามารถพึ่งพาได้ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเชิงนโยบายแบบบูรณาการและความช่วยเหลือทางวิชาการเทคนิคด้วยวิทยาการที่ทันสมัยในการฟื้นฟูประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมผลิตภาพและการสร้างความสมดุลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม