การประเมินผลกระทบจากโควิด 19 : ผู้ลี้ภัยในเมืองและผู้ขอลี้ภัยในประเทศไทย
การระบาดของโควิด 19 เริ่มขึ้นในประเทศไทยเมื่อกลางเดือนมกราคม 2563 การระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทุกภาคส่วนของสังคมไทย รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ในบริบทของชุมชนเมือง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย เช่น อะไซลั่ม แอคเซส ประเทศไทย (AAT), สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์), องค์กร HOST international, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM), มูลนิธิ Tzu Chi และยูนิเซฟ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลี้ภัยในเมืองและผู้ขอลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครอง และเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรับมือการระบาดของโควิด 19 และหลังจากที่สังเกตเห็นระดับความเปราะบางของประชากรที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านการเดินทาง การสูญเสียโอกาสในการหาเลี้ยงชีพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล องค์กรเหล่านี้นำโดย UNHCR จึงได้ดำเนินการประเมินความต้องการอย่างเร่งด่วน (RNA) แบบหลายภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของประชากรกลุ่มนี้ซึ่งบ่อยครั้งถูกละเลย โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโควิด 19 ประสบการณ์ พฤติกรรมและบรรทัดฐาน สุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ข้อค้นพบนี้ทำให้เรามีหลักฐานที่แน่นขึ้นในการออกแบบแนวทางการคุ้มครองและแทรกแซง
รายงานนี้ให้ภาพรวมของข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินความต้องการอย่างเร่งด่วน (RNA) และการติดตามหลังการให้ความช่วยเหลือ (PDM) และนำเสนอข้อแนะนำเพื่อหนุนเสริมความพยายามของ UNHCR หน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน และรัฐบาลไทย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้